319
อบต.เกาะจัน ร่วมรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่มาของวันสิ่งแวดล้อมโลก
วันสิ่งแวดล้อมโลก มีขึ้นครั้งแรกในปี 1973 หรือปี พ.ศ. 2515 โดย องค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) โดยได้ทำการจัดการประชุมที่เรียกว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อม” (UN Conference on the Human Environment) ณ กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดนเพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและการดำเนินการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก เช่น ปัญหามลพิษทางทะเล จำนวนประชากรที่มากเกินไป ภาวะโลกร้อน การพัฒนาที่ยั่งยืน และอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า
วันสิ่งแวดล้อมโลก 2024
ขณะที่ธีมสำหรับวันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปี 2024 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Our land. Our future. We are #GenerationRestoration.” หรือ คำขวัญภาษาไทยว่า “พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง”
เนื่องจากโลกกำลังเผชิญวิกฤตทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤตมลพิษและของเสีย ที่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก
ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น คน พืช สัตว์ ในทุกมิติ ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางต่อทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้น การปรับตัวต่อภัยแล้ง รวมถึงการฟื้นฟูที่ดิน จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ชุมชนและสังคมสามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
10 วิธีดูแลสิ่งแวดล้อมง่ายๆให้โลกน่าอยู่
- ใช้ผ้าแทนกระดาษทิชชู เพื่อเป็นการลดจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้นจากทรัพยากรสิ้นเปลือง
- ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกและโฟม ช่วยทั้งด้านการลดขยะและลดโลกร้อน เพราะถุงผ้าเป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
- แยกขยะให้ถูกประเภทก่อนทิ้ง และทิ้งให้ลงถังเสมอ ข้อดีคือ ช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดน้อยลง และสามารถนำขยะสดจำพวกเปลือกผลไม้มาแปรรูปเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นไม้ได้อีกด้วย
- ช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปัจจุบันนี้ต้นไม้ถูกตัดถอนไปจำนวนมาก ทำให้ปริมาณพื้นที่สีเขียวบนโลกลดน้อยลง การปลูกต้นไม้จึงช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้มีใช้กันอย่างเพียงพอกับทุกชีวิต
- ทานอาหารให้หมดจาน ขยะจากอาหารถูกทิ้งให้เป็นขยะรอวันเน่าเสีย กลายเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศถึง 8% ในประเทศไทยมีขยะอาหารคิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมด ยิ่งเรากินอาหารเหลือเยอะ การสร้างก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจะมากขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว การปรับพฤติกรรมเล็กๆ ที่สร้างได้ด้วยตัวเองที่บ้านก็มีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้แล้ว
- ไม่เปิดน้ำและไฟทิ้งไว้ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับทุกคนทั้งในครัวเรือน หรือในระดับองค์กร ช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยการใช้เท่าที่จำเป็น ใช้อย่างคุ้มค่า และกำจัดการใช้ที่ไม่จำเป็นหรือมีแนวโน้มที่จะสูญเปล่า
- ไม่เผาขยะและเศษไม้เศษหญ้า เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และการเกิดสารพิษที่เรียกว่าไดออกซินในปริมาณที่เป็นอันตราย สารไดออกซินเป็นสารเคมีที่มีพิษสูง เมื่อหลุดสู่บรรยากาศจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะจะปล่อยสารไดออกซิน และมลพิษต่าง ๆ ในระดับที่ไม่สูงจากพื้นดิน ทำให้ผู้คนสูดดมเข้าสู่ร่างกายและตกค้างอยู่บนพืชผลเกษตรกร หรือในแหล่งน้ำได้
- ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งการหมุนเวียนของสารระหว่างออกซิเจน, คาร์บอนไดออกไซด์, น้ำและสารอื่นๆในระบบนิเวศที่สำคัญ การทำลายป่าจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น จนเกิดภาวะเรือนกระจกซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
- รักษารถยนต์ด้วยการเปลี่ยนไส้กรอง เพื่อช่วยลดปัญหาการเกิดควันดำเนื่องจากไส้กรองอากาศที่สกปรกจะทำให้การไหลของอากาศที่สะอาดทำได้น้อยลง มีผลต่อการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ด้วย
- ไม่ทิ้งของเสียลงแม่น้ำ เป็นการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้ถูกทำลายจากความมักง่ายของผู้คน รวมไปถึงการช่วยควบคุมและป้องกันของเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด